สาสน์อวยพรปีใหม่ ๒๕๕๘ จากท่านพักชก รินโปเช

สวัสดีสหายธรรมทุกท่าน

เดือนนี้วันคุรุปัทมสมภพตรงกับวันสิ้นปีของปฏิทินสากล ข้าพเจ้าขอสวัสดีปีใหม่มายังท่านทั้งหลาย และขอภาวนาให้คำอธิษฐานและความอุตสาหะทุกประการของท่านในปีที่จะถึงนี้เป็นจริง!

อย่างที่เรารู้กันว่า การปฏิบัติธรรมเป็นสิ่งสำคัญมาก และโดยเฉพาะการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน มีคำสอนที่ชื่อว่า “สิ่งดีเลิศสามประการ” อันเกี่ยวกับการปฏิบัติภาวนา นี่เป็นคำสอนที่ล้ำค่ายิ่งและเราต้องประยุกต์ใช้ ไม่เพียงแค่ในการปฏิบัติธรรมของเราเท่านั้นแต่ยังครอบคลุมไปถึงทุกสิ่งที่เราทำด้วย

สิ่งดีเลิศสามประการนี้ ได้แก่ ๑) แรงจูงใจแห่งโพธิจิต ๒) หลักสำคัญในการไม่อิงอาศัย และ ๓) การบำเพ็ญบารมีเพื่อการตรัสรู้

แรงจูงใจแห่งโพธิจิต คือ การปรารถนาให้สรรพสัตว์ทั้งมวลเป็นอิสระจากความทุกข์และเหตุแห่งทุกข์ทั้งหลาย และบรรลุสู่การตรัสรู้โดยสมบูรณ์

แรงจูงใจของเราควรครอบคลุมสรรพชีวิตทั้งหมด เราควรจะพัฒนาความปรารถนาที่จะเป็นประโยชน์กับทุกคน ไม่เพียงเพื่อตัวเองหรือเพื่อคนไม่กี่คน แรงจูงใจอันเกิดจากใจที่เปิดกว้างนี้เป็นสิ่งที่เราต้องอบรมบ่มเพาะขึ้นในตัวเอง หากปราศจากแรงจูงใจนี้ การปฏิบัติของเราจะไม่ใช่การปฏิบัติธรรมที่แท้ และบุญกุศลใดๆ ที่เราสั่งสมจะไม่ใช่เหตุแห่งการหลุดพ้น หลุดพ้นในที่นี้ หมายถึง เป็นอิสระจากความเห็นแก่ตัว เป็นอิสระจากสังสารวัฏ เหตุหรือเมล็ดพันธุ์แห่งการหลุดพ้นที่แท้จริงนี้คือโพธิจิต หรือจิตแห่งการตรัสรู้นั่นเอง

เมื่อเราปรารถนาการรู้แจ้ง เราหมายถึง อิสรภาพจากความยึดมั่นในตนและแนวความคิดของตัวเองและผู้อื่นที่แบ่งขั้ว และอิสระจากกิเลสที่ทรมานคนทุกคนบนโลกใบนี้ ภาวะนี้เราหมายถึงการตรัสรู้ เป็นภาวะที่นำประโยชน์ที่แท้จริงมาสู่ตัวเราเองและผู้อื่น นี่คือสิ่งดีเลิศประการแรก – แรงจูงใจแห่งโพธิจิต ในฐานะที่เป็นผู้ปฏิบัติและผู้ที่อยู่บนหนทางแห่งการบำเพ็ญบารมี เราควรรักษาสิ่งนี้ไว้ในใจเสมอ

สิ่งดีเลิศประการที่สอง หลักสำคัญในการไม่อิงอาศัยหรือเป็นอิสระจากแนวความคิดต่างๆ คือการเข้าใจว่าทุกอย่างเป็นมายา เป็นเหมือนความฝัน และคงอยู่ชั่วคราว และเราทุกคนกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่มันอาจจะเป็นร่างกายของเรา สภาพแวดล้อม อารมณ์ ความรู้สึก ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ และไม่มีลักษณะแห่งความเป็นตัวตนอันแท้จริง

ด้วยลักษณะดังนี้ โปรดจงจำไว้ด้วยว่า บุญบารมีใดก็ตามที่เราบำเพ็ญ (หมายถึง การกระทำที่เป็นประโยชน์ ให้ผลด้านบวก) ก็ไม่ได้ดำรงอยู่อย่างแท้จริง เป็นอนิจจัง อยู่ในกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นมันจึงไม่เที่ยงและว่างเปล่า (ปราศจากตัวตนให้จับยึด) การมองสิ่งต่างๆ ด้วยวิธีนี้เป็นหลักสำคัญของการไม่อิงอาศัย เมื่อเธอประยุกต์ใช้หลักการนี้เข้ากับการบำเพ็ญบุญบารมีของเธอ การกระทำนั้นจะให้อานิสงส์สูงสุด เพราะมันสอดคล้องกับสภาวะพื้นฐานของสิ่งต่างๆ สภาวะตามธรรมชาติของทุกสิ่ง เนื่องด้วยรากฐานของความทุกข์คือการรับรู้และการยึดติดของเราในสิ่งต่างๆ ว่าเป็นสิ่งจริง การออกจากการรับรู้ที่ผิดพลาดนี้คือหลักสำคัญของการไม่อิงอาศัย นี่เป็นคำสอนที่มีค่าอย่างใหญ่หลวง

พวกเธอหลายคนรู้จักการทำสมาธิ แต่หลายคนก็ไม่ ในทั้งสองกรณี ความปรารถนาและความหวังของข้าพเจ้าสำหรับพวกเธอทุกคนคือ พวกเธอจะสามารถเข้าใจและระลึกได้ว่า ทุกอย่างที่เรารู้และประสบอยู่เป็นดังความฝัน ไม่เที่ยงแท้ เป็นมายา และว่างเปล่าจากการดำรงอยู่อันแท้จริง หากเธอปฏิบัติดังนี้ เธอจะเห็นด้วยตัวเองว่า ความเข้าใจนี้มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์อย่างไร

ประการที่สามคือ การบำเพ็ญบารมี ไม่ว่าเธอจะทำอะไรก็ตาม การบำเพ็ญบารมีนั้นมีพลังมาก การบำเพ็ญบารมีนั้นถูกกำกับด้วยแรงจูงใจของเธอ และแรงจูงใจของเธอจะถูกขับเคลื่อนโดยปณิธานบางอย่าง ข้าพเจ้าพบว่า ปณิธานนั้นสามารถช่วยพัฒนาให้แรงจูงใจของเราแข็งแกร่งขึ้นและบริสุทธิ์มากขึ้น

วิธีที่ดีที่สุดในการบำเพ็ญบารมี คือ การเดินตามรอยเท้าของพระพุทธะและพระอรหันต์ในอดีต ทั้งในเรื่องของศรัทธาและความเพียร ให้คิดว่า “ข้าฯ ขอบำเพ็ญบารมีในครั้งนี้และครั้งอื่นๆ ด้วยปฏิปทาและด้วยเจตนาเดียวกันกับผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบและผู้รู้แจ้งในอดีตทั้งหลาย ทั้งชายและหญิง เพื่อประโยชน์ของสรรพสัตว์ทั้งปวง”

เมื่อเธอนำสิ่งดีเลิศสามประการนี้มาใช้ ไม่ว่าเธอจะบำเพ็ญบารมีใดก็ตาม ผลของบารมีนั้นจะเป็นผลสูงสุด หนทางแห่งการบำเพ็ญบารมีนั้นจะช่วยให้เธอสามารถเอาชนะกิเลสทั้งหลาย และทำประโยชน์ให้แก่สรรพชีวิตได้อีกมากมาย และพลังของบารมีนั้นจะเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้นแล้ว ไม่ว่าเธอจะปฏิบัติแบบไหน ไม่ว่าจะทำกิจอันใด ขอจงโปรดประยุกต์ใช้สิ่งดีเลิศทั้งสามประการนี้

ตัวอย่างเช่น ถ้าเธอรู้ตัวว่าเธอทำผิดพลาด แล้วเธอขอขมากรรม เธอควรจะทำด้วยหลักการทั้งสามนี้ เมื่อเธอทำการงานหรือกิจอันใด เธอควรจะใช้หลักการเหล่านี้ ถ้าใครก่อกำลังปัญหาให้เธอและทำให้เธอมีช่วงเวลาที่ยากลำบาก เธอสามารถประยุกต์ใช้ทั้งสามข้อนี้โดยการคิดว่า “ด้วยความทุกข์ยากที่มีข้าพเจ้ามีในขณะนี้ ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลายจงเป็นอิสระจากความทุกข์และเหตุแห่งทุกข์ และบรรลุสู่ความรู้แจ้ง (แรงจูงใจแห่งโพธิจิต) ความทุกข์ทั้งปวงที่ข้าพเจ้าประสบ ณ บัดนี้เป็นมายา เป็นอนิจจัง และไม่มีลักษณะอันจริงแท้ เหมือนดั่งความฝัน (หลักสำคัญ)” แล้วเธอก็บำเพ็ญเหตุแห่งกุศลบารมีเพื่อประโยชน์ของสรรพสัตว์ทั้งปวง (บำเพ็ญบารมี) เช่นเดียวกัน เมื่อเธอมีความสุขและมีช่วงเวลาที่ดี เธอสามารถฝึกฝนสิ่งดีเลิศทั้งสามประการนี้ได้เหมือนกับตอนที่เธอทุกข์หรือรู้สึกเฉยๆ เมื่อกำลังเพลิดเพลินกับอาหารอร่อยหรือสนุกสนานกับสิ่งที่เธอได้สัมผัสผ่านอายตนะทั้งห้า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ไม่ว่าจะพอใจ ไม่พอใจ หรือ เฉยๆ เธอสามารถประยุกต์ใช้สิ่งดีเลิศทั้งสามข้อนี้ ซึ่งเป็นคำสอนที่สำคัญและมีค่ามากสำหรับคนผู้เริ่มเดินบนหนทางแห่งการบำเพ็ญบารมีอย่างเรา ดังนั้นโปรดจดจำรำลึกถึงคำสอนเหล่านี้เอาไว้นะ

สิ่งดีเลิศทั้งสามประการนี้เป็นสิ่งที่เราต้องตั้งใจฝึกฝนและพัฒนาขึ้นภายในตัวเรา ชีวิตทางโลกนั้นไร้ความสลักสำคัญและไร้ความหมายในตัวมันเอง แต่ในขณะเดียวกัน การงานที่แตกต่างและกิจที่เราทำก็ใช่ว่าจะไร้ประโยชน์ ถ้าเราใช้ดีๆ มันก็นำมาซึ่งประโยชน์ได้อย่างแน่นอน เพราะที่มาของประโยชน์ทั้งปวงและข้อบกพร่องทั้งหลายก็คือใจนั่นเอง แล้วถ้าเธอสามารถใช้สิ่งดีเลิศทั้งสามกับใจของพวกเธอได้ สิ่งนี้จะช่วยนำทางให้กับการกระทำทั้งหมดของเธอจากจุดเริ่มต้นไปจนถึงที่สุด เพื่อให้เรากลายเป็นคนมีเมตตาและเอื้ออาทรได้อย่างแท้จริง

ขออำนวยพร,

ขอสรรพมงคลจงบังเกิดมี
ท่านพักชก รินโปเช

Posted in คำสอนเนื่องในวัน คุรุปัทมสมภพ.